สายสัญญาณกล้องวงจรปิด เรื่องเล็กๆ ที่ต้องใส่ใจ

กล้องไม่ชัด นอยส์เยอะ ภาพเป็นคลื่น ปัญหาพวกนี้บางทีอาจเกิดจากสายสัญญาณกล้องวงจรปิด วันนี้ช่างเสือจะมาแนะนำวิธีเลือกกันครับ

กล้องไม่ชัด ภาพมีสัญญาณรบกวนเยอะ ภาพเป็นคลื่น เคยเจอปัญหาพวกนี้กันไหมครับ ไม่ว่าจะขยับสายก็แล้ว เปลี่ยนอะแดปเตอร์ก็แล้ว หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนกล้องวงจรปิดก็ยังไม่หาย นั่นเป็นเพราะว่าบางทีปัญหาเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากอุปกรณ์หลัก แต่เกิดจากอุปกรณ์เล็กๆ อย่าง “สายสัญญาณ” นั่นเอง

วันนี้ช่างเสือจะพาทุกคนไปรู้จักกับประเภทสายสัญญาณประเภทต่างๆ พร้อมบอกวิธีการเลือกซื้อให้เหมาะสมกับงาน หรืออย่างน้อยๆ หากเราไม่ได้ติดตั้งเอง จะได้มีความรู้ไว้สอบถาม พูดคุยกับช่างเพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบหากช่างนำสายสัญญาณคุณภาพไม่ดีมาใช้ครับ

สายสัญญาณกล้องวงจรปิดจะถูกแบ่งออกหลักๆ จากประเภทของกล้อง คือ

  • กล้องแอนะล็อก จะใช้สายสัญญาณประเภทโคแอกซ์เชียล (Coaxial Cable)
  • กล้อง IP จะใช้สายสัญญาณประเภทตีเกลียวคู่ (Twisted Pair)

สายโคแอกเชียล (Coaxial Cable)

สายโคแอกซ์ หรือ โคแอกซ์เชียล หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “สายแกนร่วม” เป็นสายสัญญาณวิทยุประเภทแรกที่ใช้กัน และเป็นที่นิยมในเครือข่ายคอมพิวเตอร์สมัยก่อน ใช้กับการติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบแอนะล็อกเท่านั้น

โครงสร้างของสายโคแอกซ์เชียลจะมี 4 ชั้นหลักๆ ได้แก่

  • ตัวนำสัญญาณ (Conductor) ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ ทำจากเหล็กหุ้มด้วยทองแดง หรือทองแดงล้วน
  • ฉนวนหุ้ม (Insulator) ทำหน้าที่ป้องกันสัญญาณรบกวนจากภายนอก ทำจากโฟม หรือโพลีเอทิลีน (Polyethylene/PE) หุ้มด้วยเทปอลูมิเนียม
  • ชิลด์ (Braid Shied) ทำหน้าที่ป้องกันสัญญาณรบกวนอีกชั้นหนึ่ง ทำจากเส้นอลูมิเนียมหรือทองแดง นำมาถักเป็นแผ่นเหมือนผ้า โดยความหนาแน่นต่อพื้นที่ในการถักจะบอกเป็น % เอาไว้ในสเปค เช่น 60% 70% 80% เป็นต้น หรืออาจบอกด้วยจำนวนเส้นที่นำมาถัก เช่น 112 120 144 เป็นต้น ซึ่งยิ่งมากก็จะยิ่งดี
  • เปลือกหุ้มสาย (Jacket) ทำหน้าที่หุ้มสายทั้งหมดเพื่อป้องกันน้ำและแสงแดด รวมถึงป้องกันสายจากสถาพแวดล้อมภายนอก ทำจากโพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride/PVC) หรือ โพลีเอทิลีน (Polyethylene/PE)

สายโคแอ็กซ์เชียลจะถูกแบ่งย้อยเป็นประเภทต่างๆ โดยใช้ Radio Grade Scal (RG) เป็นตัวแบ่ง สายโคแอกซ์เชียลที่นิยมใช้กับกล้องวงจรปิดมี 3 ชนิด ได้แก่

โครงสร้างสายสัญญาณกล้องวงจรปิดแบบโคแอกซ์เชียล

RG6

เป็นสายสัญญาณที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการติดตั้งกล้องวงจรปิด การแบ่งคุณภาพของสาย RG6 จะใช้สเปคของตัว ชิลด์เป็นตัววัด โดยสายที่มีคุณภาพสูงสุดจะมีสเปค Bradie Shied อยู่ที่ 95% หากชิลด์ทำด้วยทองแดงจะสามารถเดินสายได้ระยะไม่เกิน 700 เมตร และหากชิลด์ทำด้วยอลูมิเนียมจะสามารถเดินสายได้ระยะไม่เกิน 400 เมตร โดยสายประเภทนี้มีทั้งแบบใช้ภายใน (สายสีขาว) และภายนอกอาคาร (สายสีดำ) ซึ่งสายสีดำจะมีคุณภาพดีมากกว่า สามารถนำมาใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร

RG59

เป็นสายที่มีขนาดเล็กมากที่สุดใน 3 ตัวนี้ มีการลดทอนของสัญญาณค่อนข้างมาก จึงรองรับการเดินสายไฟได้ไม่เกิน 200 เมตร เนื่องจากเป็นสายขนาดเล็กทำให้มีความยืดหยุ่นสูง จึงเหมาะกับการนำมาใช้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในลิฟต์ หรือติดตั้งภายในอาคาร เช่น ห้องทำงาน บ้านพักอาศัย ร้านค้า เป็นต้น

RG11

เป็นสายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน 3 ตัวนี้ รองรับการเดินสายได้ถึง 1,000 เมตร มีแกนกลางขนาดใหญ่ช่วยให้ส่งสัญญาณข้อมูลได้ไกลและรวดเร็ว แต่ก็มีราคาที่สูงตามและการติดตั้งทำได้ยากกว่าสายชนิดอื่นๆ เล็กน้อย เนื่องจากสายค่อนข้างแข็ง

หากต้องการเดินสายสัญญาณที่มีระยะไกลกว่า 1,000 เมตร จะต้องใช้ Booster ขยายสัญญาณ ซึ่งจะสามารถขยายสัญญาณให้ไกลได้ถึง 2,000 เมตรเลยทีเดียว

สายตีเกลียวคู่ (Twisted Pair)

สายชนิดตีเกลียวคู่ หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “สาย LAN” เป็นสายชนิดเดียวกับสายอินเทอร์เน็ตที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน มีมาตรฐานแบบ CAT ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาไปไกลถึงระดับ CAT 8 ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้อย่างรวดรวดเร็วมาก แต่สำหรับกล้องวงจรปิดแล้วใช้เพียงมาตรฐาน CAT5e หรือ CAT6 ก็เพียงพอแล้ว โดยสาย LAN จะใช้กับการติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบ IP เท่านั้น

สายสัญญาณกล้องวงจรปิดแบบ Twisted Pair

สามารถเอาสาย LAN มาเป็นสายสัญญาณให้กล้องแอนะล็อกได้ไหม?

หลายคนอาจเคยเจอช่างส่งใบเสนอราคามา โดยใช้สาย LAN จับคู่กับกล้องวงจรปิดแบบแอนะล็อก ซึ่งถ้าหากอ่านจากเนื้อหาด้านบนก็คงจะสงสัยกันว่ามันทำได้ด้วยเหรอ คำตอบคือ “ทำได้ครับ” โดยใช้อุปกรณ์แปลงสัญญาณที่เรียกว่า “บาลัน” (Balun) แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งตรงนี้ลูกค้าควรรู้ก่อนการซื้อหรือเซ็นสัญญาติดตั้ง โดยมีข้อดีข้อเสีย ดังนี้ครับ

ข้อดี – ช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลา

การติดตั้งด้วยสาย LAN จะช่วยให้ประหยัดสายไฟที่จะใช้ เนื่องจากสาย LAN สามารถติดตั้งกล้องได้ถึง 4 ตัวในเส้นเดียว แตกต่างจากสายสัญญาณแบบ RG ที่ต้องใช้สาย 1 เส้นต่อการติดตั้งกล้อง 1 ตัว

เมื่อใช้สายไฟน้อยลงแล้ว ขนาดท่อร้อยสายไฟก็จะเล็กลงรวมถึงใช้จำนวนน้อยลงด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังประหยัดเวลาติดตั้ง และไม่ต้องเสียเวลาปลอกสายไฟเข้าหัวแจ็คอีกด้วยเพราะตัวบาลันจะมีหัวสำเร็จรูปมาให้แล้ว

ข้อเสีย – ความทนทานและสัญญาณรบกวน

สาย LAN นั้นไม่มีชั้นป้องกันสัญญาณรบกวน ทำให้มีสัญญาณรบกวนได้ โดยเฉพาะหากไม่ใส่ท่อร้อยสายไฟ และเดินสายระยะไกล

นอกจากนั้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้บาลันในการแปลงสัญญาณ ทำให้การบำรุงรักษายากกว่าปกติเพราะมีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนั้นเมื่อมีระบบมีปัญหาแล้ว ยังทำให้ยากต่อการไล่เช็กหาจุดที่เป็นต้นตอของปัญหาอีกด้วย เพราะกล้อง 4 ตัวเดินสายสัญญาณในเส้นเดียว

ตรวจสอบงานติดตั้งกล้องวงจรปิด

ดังนั้นเวลาจะเลือกติดตั้งกล้องวงจรปิด อย่าลืมตรวจสอบเรื่องสายสัญญาณที่จะได้ด้วยนะครับ อย่ามองแต่ราคาเพียงอย่างเดียว เพราะอาจได้สายสัญญาณที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ และที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบว่าช่างแอบใช้สาย LAN กับกล้องแอนะล็อก แล้วนำมาขายในราคาเดินสาย RG หรือเปล่าด้วยนะครับ ด้วยความหวังดีจากช่างเสือ

สนใจติดกล้องวงจรปิด ติดต่อช่างเสือได้ที่

Facebook: ช่างเสือ CCTV ตัวจริงเรื่องติดตั้งกล้องวงจรปิด

Line: @toracctv

Tel: 098-267-3838

ดูโปรโมชั่นของช่างเสือ คลิก